เมนู

ติดตามภาวะน้ำท่วม จากข้อมูลวิจัยคาดการณ์น้ำเขื่อน น้ำท่า น้ำท่วม ล่วงหน้า 

(ผลจากการวิเคราะห์จากทีมวิจัยหลายมหาวิทยาลัยภายใต้แผนงานวิจัยการใช้ประโยชน์งานวิจัยของวช. วันที่ 5 กันยายน 2567)

ติดตามภาวะน้ำท่วม

ทีมวิจัยการบริหารจัดการน้ำร่วมกันคาดการณ์น้ำเขื่อน น้ำท่า น้ำท่วม ชี้ปริมาณน้ำที่นครสวรรค์จะมีค่าเกินเกณฑ์ที่เป็นการบริหารระดับชาติ ต้องเฝ้าติดตามการเกิดไต้ฝุ่น และระวังพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงเดือนกันยายนโดยเฉพาะ เผยตัวเลขความเสียหายจากภัยพิบัติน้ำท่วมที่ผ่านมา ทำให้นาข้าวเสียหายกว่า 1.6 พันล้านบาท จังหวัดอุตรดิตถ์ พิจิตร และนครพนม หนักสุด

รองศาสตราจารย์ ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานแผนงานวิจัยแผนงานการขับเคลื่อนแนวทางการใช้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำ ระยะที่ 1 ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า คณะวิจัยได้คาดการณ์น้ำเขื่อน น้ำท่า น้ำท่วม ล่วงหน้า 2 สัปดาห์ โดยใช้ฝนคาดการณ์ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ร่วมกับงานน้ำเขื่อนโดยมหาวิทยาลัยมหิดล งานน้ำท่าของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และงานน้ำท่วมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันคาดการณ์ว่าวันที่ 8 กันยายน 2567 ปริมาณน้ำที่จังหวัดนครสวรรค์จะเพิ่มขึ้นถึง 2,180 ลบ.ม.ต่อวินาที หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะพื้นที่ริมแม่น้ำ พร้อมเฝ้าระวังพายุที่จะเกิดตามมาอย่างใกล้ชิด
.
ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 พบว่าพื้นที่น้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีขนาด 407,311 ไร่ ครอบคลุมจังหวัดเชียงราย พะเยา ลำพูน แพร่ สุโขทัย น่าน และลำปาง โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่การเกษตร พื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำสายหลักและสายรอง รวมถึงพื้นที่อยู่อาศัยบางส่วน คาดว่าพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในปีนี้อาจจะแผ่ขยายออกไปอีกในช่วงต้นเดือนกันยายนในบริเวณเส้นทางน้ำหลากไหลผ่าน รวมถึงพื้นที่ตามแนวเส้นทางผันน้ำทางตอนกลางของประเทศสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบางส่วน
.
ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำของเขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล มีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 47% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 7,104 ล้านลบ.ม.) เขื่อนสิริกิติ์ มีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 78% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 2,110 ล้านลบ.ม.) เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 46% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 503 ล้านลบ.ม.) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 28% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 688 ล้านลบ.ม.) เขื่อนกิ่วคอหมา มีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 89% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 18 ล้านลบ.ม.)
.
ข้อมูลผลกระทบจากน้ำท่วม ประเมินผล ณ วันที่ 4 กันยายน 2567 ทั้งประเทศไทย พบว่ามีพื้นที่น้ำท่วมรวมทั้งสิ้น 749,511 ไร่ ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ปลูกข้าว 355,255 ไร่ คิดเป็นมูลค่า 1,608 ล้านบาท โดยพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือได้รับผลกระทบมากที่สุด รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง จังหวัดที่มีข้าวเสียหายมากที่สุดคือ อุตรดิตถ์ มูลค่า 323.7 ล้านบาท รองลงมาคือ พิจิตร และนครพนม มูลค่า 266.3 ล้านบาท และ 243.1 ล้านบาทตามลำดับ มีพื้นที่ถนนได้รับผลกระทบรวมระยะทาง 508.9 กม. ขณะที่ผลกระทบด้านสังคมทำให้มีผู้ประสบภัย 123,603 คน
.
(ผลจากการวิเคราะห์จากทีมวิจัยหลายมหาวิทยาลัยภายใต้แผนงานวิจัยการใช้ประโยชน์งานวิจัยของวช.)
วันที่ 5 กันยายน 2567
.
ดูเอกสารรายละเอียดได้ที่
https://drive.google.com/drive/folders/15WQnNsMlNJbkb-E9hq3mKisn-89P7-Ma?usp=sharing

Share your love