ประเทศไทย อยู่ในวังวน ท่วม – แล้ง ซ้ำซาก
ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับวังวนปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ซ้ำซากที่เกิดจากความแปรปรวนสภาพอากาศ ซึ่งหลายเหตุการณ์ทั้ง อุทกภัยใหญ่ และภัยแล้งหนักที่เกิดขึ้น กลายเป็น “ภาพจำ” ของภัยพิบัติที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี
ปี 2547-2548 “เขื่อนน้ำน้อยเป็นประวัติการณ์”
ปรากฏกการณ์คลื่นความร้อน เอลนีโญ ที่ผ่านเข้าแถบเอเชียตั้งแต่เดือนกันยายน 2547 ทำให้ไทยเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง และแล้งต่อเนื่อง ภัยแล้งที่ต่อเนื่องไปถึงกลางปี 2548 ยิ่งทำให้ภาคเกษตรขาดแคลนน้ำมาก โดยปริมาณน้ำในเขื่อนภาคอีสาน และภาคกลาง อย่างอ่างเก็บน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์ ลำตะคลอง ทับเสลา และ กระเสียว ลดน้อยลงเป็นประวัติการณ์ ถึงขั้นวิกฤต
ขณะที่พื้นที่ภาคตะวันออก อ่างเก็บน้ำหลายแห่งต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย อยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 14-29 อย่างเช่น อ่างเก็บน้ำบางพระ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และคลองสียัด หลายพื้นที่ในจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี และตราด เกิดภาวะขาดแคลนน้ำ ทั้งในภาคการอุปโภค บริโภค ภาคเกษตร และอุตสาหกรรม
ปี 2554 “มหาอุทกภัย”
อิทธิพลโดยตรงและโดยอ้อมจากพายุที่เคลื่อนตัวจากทะเลจีนใต้ถึง 5 ลูก ตั้งแต่ พายุโซนร้อนไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแก รวมถึงปริมาณน้ำสะสมในเขื่อนมีมาก และเมื่อมวลน้ำจากลุ่มน้ำยมไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยามากถึง 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้เกิด “มหาอุทกภัย” น้ำท่วมในทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ถูกน้ำท่วมหนักและรุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ไม่เว้นแม้แต่สนามบินดอนเมืองต้องจมน้ำ พื้นที่การเกษตรเสียหายถึง 11.2 ล้านไร่ ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายมากถึง 1.44 ล้านล้านบาท ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ถึงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดและนำมาสู่การวางแผนรับมือในอุทกภัยในระยะยาวมากขึ้น
ปี 2557-2558 “แล้งหนักทั่วประเทศ”
ผ่านมาอีกไม่ถึง 3 ปี เกิดสถานการณ์ฝนตกน้อยผิดปกติต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดภัยแล้งรุนแรงทั่วประเทศขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะปี 2558 ปริมาณฝนรายปี อยู่ที่ 1,247 มม. ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนิโญกำลังแรงมาก (Very Strong Elnino/Super Elnino) แม่น้ำสำคัญหลายสาย อย่าง แม่น้ำปิงแห้งจนเดินข้ามได้ ปีนั้นกรมชลประทานประกาศงดปลูกพืชฤดูแล้ง 1.59 ล้านไร่ แต่มีการปลูกจริงถึง 4 ล้านไร่ ซึ่งเกินจากแผนไปมาก จึงมีการห้ามสูบน้ำจากคลองส่งน้ำต่าง ๆ เพื่อจัดสรรให้เพียงพอ ส่งผลให้พื้นที่เกษตรเสียหาย 1.65 ล้านไร่ เกษตรกรประสบภัยกว่า 1.7 แสนคน หลายพื้นที่เกิดภาพความขัดแย้งระหว่างผู้ใช้น้ำ เช่น ที่คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ชาวนาแย่งน้ำทำนาจนเกิดการกระทบกระทั่งกัน
ปี 2560 “น้ำท่วมอีสานครั้งใหญ่”
แต่หลังจากนั้นอีกเพียงสองปีกลับเกิดสถานการณ์ฝนตกมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในปี 2560 และเกิดมหาอุทกภัยใหญ่ที่สร้างความเสียหายร้ายแรงที่สุดในรอบ 30 ปีที่ จ.สกลนคร จากอิทธิพลของพายุโซนร้อนตาลัส และเซินกา ปริมาณฝนสะสมในเขต อ.เมืองสกลนครวันที่ 28 กรกฎาคม 2560 สูงถึง 180.3 มิลลิเมตร ในวันนั้น ปริมาณน้ำในลำห้วยทราย ที่รับน้ำจากเทือกเขาภูพานล้นตลิ่ง และมีมวลน้ำขนาดใหญ่จากหลายแห่ง ไหลเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ สนามบินถูกปิด ขณะเดียวกัน อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นเกิดการชำรุด ทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อน ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรเสียหาย
ความแปรปรวน ใน รอบ 20 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล สถิติข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่าตั้งแต่ปี 2547– 2565 เกิดน้ำท่วม 98 ครั้ง มีมูลค่าความเสียหาย 76,489 ล้านบาท ส่วนภัยแล้ง คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 17,190 ล้านบาท
2566 ไทยกำลังเดินเข้าสู่ปรากฏการณ์ ร้อน แล้ง รุนแรงขึ้น
ปีนี้ไทยเปลี่ยนผ่านจากปรากฏการณ์ลานีญา มาสู่ เอลนีโญ หรือภาวะร้อน แล้ง น้ำน้อยอีกครั้ง ตั้งแต่ต้นปีฝนก็ยังตกน้อยกว่าค่าปกติ (1 ม.ค.-13 ส.ค 2566) ร้อยละ 19 ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่าปรากฏการณ์เอนโซ ที่อยู่ในสภาวะเอลนีโญ กำลังอ่อนมีแนวโน้มที่จะแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2566 จากนั้นจะมีกำลังอ่อนลงและจะต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2567 ก่อนที่ในปี 2573 ไทยก็จะเสี่ยงเผชิญน้ำท่วมใหญ่คล้ายปี 2554
ติดตามได้ในรายการตรงประเด็น ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 12.00 – 12.30 น. ทางไทยพีบีเอส #ตรงประเด็น #thaipbs #ช่องหมายเลข3