เมนู

จัดการน้ำ รับมือโลกผันผวน ต่อยอดนวัตกรรม คลี่คลายวิกฤตน้ำท่วม-น้ำแล้ง

ตอนนี้น้ำกำลังท่วม แล้วทำไมต้องเตรียมตัววางแผนรับมือน้ำแล้ง ?  

ข้อมูลตัวเลขจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่าช่วงวันที่ 26 กันยายน – 23 ตุลาคม 2566  มีพื้นที่ประสบอุทกภัย รวม 38 จังหวัด 159 อำเภอ และยังมีอีกหลายจังหวัดที่ยังเสี่ยงกับการเกิดน้ำท่วมเฉียบพลันและน้ำป่าไหลหลาก  ซึ่งอาจดูสวนทางกับการรายงานเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ที่ว่า ประเทศไทยเดินเข้าสู่ “ภาวะร้อน แล้ง” หรือปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ตั้งแต่ช่วงกลางปี และจะคงอยู่ต่อเนื่องไปอีก 3-5 ปีข้างหน้า

“ภาวะผันผวน” ที่กำลังเกิดขึ้น สอดรับกับที่ก่อนหน้านี้องค์การสหประชาชาติออกมาเปิดเผยว่า ยุค “โลกร้อน” ได้สิ้นสุดลง และเข้าสู่ยุค “โลกเดือด” แล้ว  เป็นการส่งสัญญาณเตือนทั้งโลก ว่าภัยพิบัติ ไม่ว่า น้ำท่วม หรือ ภัยแล้ง มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง  

เรื่องนี้สอดคล้องกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ที่อธิบายถึงความรุนแรงของการเกิดภัยในระยะหลัง ที่เกิดบ่อย ถี่ และทวีความรุนแรงขึ้น เป็นลักษณะ สภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว (Extreme  Weather Event ) อันเป็นผลพวงจากอุณหภูมิโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น   เช่น ฝนตกครั้งเดียว ก็อาจทำให้เกิดน้ำท่วมหนักได้มากกว่าในอดีต หรือปรากฏการณ์สภาพอากาศร้อนแล้ง ก็อาจทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น และรุนแรงมากขึ้น 

ประเทศไทย อยู่ในวังวน ท่วม – แล้ง ซ้ำซาก

ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับวังวนปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ซ้ำซากที่เกิดจากความแปรปรวนสภาพอากาศ ซึ่งหลายเหตุการณ์ทั้ง อุทกภัยใหญ่ และภัยแล้งหนักที่เกิดขึ้น กลายเป็น “ภาพจำ” ของภัยพิบัติที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี

ปี 2547-2548  “เขื่อนน้ำน้อยเป็นประวัติการณ์”   

ปรากฏกการณ์คลื่นความร้อน เอลนีโญ ที่ผ่านเข้าแถบเอเชียตั้งแต่เดือนกันยายน 2547 ทำให้ไทยเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง และแล้งต่อเนื่อง  ภัยแล้งที่ต่อเนื่องไปถึงกลางปี 2548 ยิ่งทำให้ภาคเกษตรขาดแคลนน้ำมาก โดยปริมาณน้ำในเขื่อนภาคอีสาน และภาคกลาง อย่างอ่างเก็บน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์ ลำตะคลอง ทับเสลา  และ กระเสียว ลดน้อยลงเป็นประวัติการณ์ ถึงขั้นวิกฤต

ขณะที่พื้นที่ภาคตะวันออก อ่างเก็บน้ำหลายแห่งต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย อยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 14-29  อย่างเช่น อ่างเก็บน้ำบางพระ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และคลองสียัด หลายพื้นที่ในจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี และตราด เกิดภาวะขาดแคลนน้ำ ทั้งในภาคการอุปโภค บริโภค ภาคเกษตร และอุตสาหกรรม  

ปี 2554  “มหาอุทกภัย”

อิทธิพลโดยตรงและโดยอ้อมจากพายุที่เคลื่อนตัวจากทะเลจีนใต้ถึง 5 ลูก ตั้งแต่ พายุโซนร้อนไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแก  รวมถึงปริมาณน้ำสะสมในเขื่อนมีมาก และเมื่อมวลน้ำจากลุ่มน้ำยมไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยามากถึง 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร  ทำให้เกิด “มหาอุทกภัย” น้ำท่วมในทุกภาคของประเทศ  โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ถูกน้ำท่วมหนักและรุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี  พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ไม่เว้นแม้แต่สนามบินดอนเมืองต้องจมน้ำ  พื้นที่การเกษตรเสียหายถึง 11.2 ล้านไร่ ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายมากถึง 1.44 ล้านล้านบาท ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ถึงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดและนำมาสู่การวางแผนรับมือในอุทกภัยในระยะยาวมากขึ้น

ปี 2557-2558  “แล้งหนักทั่วประเทศ”

ผ่านมาอีกไม่ถึง 3 ปี เกิดสถานการณ์ฝนตกน้อยผิดปกติต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดภัยแล้งรุนแรงทั่วประเทศขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะปี 2558 ปริมาณฝนรายปี อยู่ที่ 1,247 มม. ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์  เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนิโญกำลังแรงมาก (Very Strong Elnino/Super Elnino) แม่น้ำสำคัญหลายสาย อย่าง แม่น้ำปิงแห้งจนเดินข้ามได้  ปีนั้นกรมชลประทานประกาศงดปลูกพืชฤดูแล้ง 1.59 ล้านไร่ แต่มีการปลูกจริงถึง 4 ล้านไร่ ซึ่งเกินจากแผนไปมาก จึงมีการห้ามสูบน้ำจากคลองส่งน้ำต่าง ๆ เพื่อจัดสรรให้เพียงพอ ส่งผลให้พื้นที่เกษตรเสียหาย 1.65 ล้านไร่  เกษตรกรประสบภัยกว่า  1.7 แสนคน  หลายพื้นที่เกิดภาพความขัดแย้งระหว่างผู้ใช้น้ำ เช่น ที่คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ชาวนาแย่งน้ำทำนาจนเกิดการกระทบกระทั่งกัน

ปี 2560  “น้ำท่วมอีสานครั้งใหญ่”

แต่หลังจากนั้นอีกเพียงสองปีกลับเกิดสถานการณ์ฝนตกมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในปี 2560 และเกิดมหาอุทกภัยใหญ่ที่สร้างความเสียหายร้ายแรงที่สุดในรอบ 30 ปีที่ จ.สกลนคร จากอิทธิพลของพายุโซนร้อนตาลัส และเซินกา ปริมาณฝนสะสมในเขต อ.เมืองสกลนครวันที่ 28 กรกฎาคม 2560 สูงถึง 180.3 มิลลิเมตร ในวันนั้น ปริมาณน้ำในลำห้วยทราย ที่รับน้ำจากเทือกเขาภูพานล้นตลิ่ง และมีมวลน้ำขนาดใหญ่จากหลายแห่ง ไหลเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ สนามบินถูกปิด  ขณะเดียวกัน อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นเกิดการชำรุด ทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อน ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรเสียหาย

ความแปรปรวน ใน รอบ 20 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล สถิติข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่าตั้งแต่ปี 2547– 2565 เกิดน้ำท่วม 98 ครั้ง  มีมูลค่าความเสียหาย 76,489 ล้านบาท ส่วนภัยแล้ง คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 17,190 ล้านบาท

2566 ไทยกำลังเดินเข้าสู่ปรากฏการณ์ ร้อน แล้ง รุนแรงขึ้น   

ปีนี้ไทยเปลี่ยนผ่านจากปรากฏการณ์ลานีญา มาสู่ เอลนีโญ  หรือภาวะร้อน แล้ง น้ำน้อยอีกครั้ง ตั้งแต่ต้นปีฝนก็ยังตกน้อยกว่าค่าปกติ (1 ม.ค.-13 ส.ค 2566) ร้อยละ 19 ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่าปรากฏการณ์เอนโซ ที่อยู่ในสภาวะเอลนีโญ กำลังอ่อนมีแนวโน้มที่จะแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2566 จากนั้นจะมีกำลังอ่อนลงและจะต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2567  ก่อนที่ในปี 2573 ไทยก็จะเสี่ยงเผชิญน้ำท่วมใหญ่คล้ายปี 2554  

รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทย อาจเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้นจากร้อนสุด ๆ สู่ร้อนสุดขีด

“กุมภาพันธ์ 2567  จะเป็นช่วงที่เอลนีโญรุนแรงที่สุดหรือภัยแล้งจะรุนแรง ซึ่งดัชนีจะขึ้นสูงสุดเป็นปีแรก หลังจากนั้นก็ปรับขึ้นอีกครั้งที่สองใน ปี 2568 และ 2569 แล้วจะต่อเนื่องครั้งที่สามในปี 2570 และ 2571 ซึ่งยาวต่อเนื่องเป็นครั้งแรก ถ้าไทยยังบริหารจัดการน้ำแล้งแค่ช่วงเดียวไม่มองอนาคต ช่วงระลอกที่สองและสาม อาจทำให้การใช้น้ำทั้ง ประชาชน ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำและการใช้น้ำ รวมถึงเกษตรกรกระทบหนัก”

ด้าน ผศ.ภาณุวัฒน์ ปิ่นทอง หัวหน้าศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มในอีก 5 ปีข้างหน้า ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะเผชิญกับความผันผวนของปริมาณน้ำ ที่มีโอกาสจะแล้งต่อเนื่องและเกิดภัยแล้งหนักในปี 2568 

“แนวโน้มสถานการณ์ฝนของปี 2568 จะเป็นปีที่แล้งที่สุดในรอบ 20 ปี โดยคาดการณ์ว่าจะมีฝนตก 833 มม. และมีน้ำไหลเข้าอ่างฯ เพียง 7,038 ล้าน ลบ.ม. (ใกล้เคียงกับ 2558) ดังนั้นต้องวางแผนการใช้น้ำทุกภาคส่วน”

ขณะที่ รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์  ประธานแผนงานวิจัยยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อทุกประเทศเติบโต แนวโน้มความต้องการใช้น้ำก็เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ในมุมของการจัดหาน้ำมีข้อจำกัด โอกาสที่จะสร้างเขื่อนใหม่ก็ยากขึ้น ขณะที่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยิ่งทำให้การจัดการยากขึ้น โดยแนวโน้มการขาดแคลนน้ำในอนาคตก็จะเพิ่มขึ้นสูงขึ้นกว่าในอดีต  ขณะที่อีก 2-3 ปีนี้ไทยกำลังจะเจอเอลนีโญอาจต้องเตรียมพร้อม

อ่านต่อ https://theactive.net/data/water-management-innovation/

Share your love